อีเมล์ :
รหัสผ่าน :
ลืมรหัสผ่าน
บริการประชาชน
น้องกุญชร
06.09
น้องกุญชร
สวัสดีจร้าาา...วันนี้มีอะไรให้น้องช่วยฮ่ะ ถามน้องกุญชรมาได้เลย จะรีบไปหาคำตอบให้ฮะ
06.09
10 ที่เที่ยวแนะนำ
วงเวียนพระแม่โพสพ
ยังไม่มีผู้ให้คะแนน

ความเชื่อ และพิธีกรรมเกี่ยวกับการสมโภชแม่โพสพ ความเชื่อเกี่ยวกับแม่โพสพของชาวบ้านในอำเภอระโนด การทำนาของชาวบ้านในอำเภอระโนด มีรูปแบบวิธีการทำนา เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนาตลอดจนความเชื่อและพิธีกรรมที่สืบเนื่องจากการทำนาของชาวบ้าน มีความคล้ายคลึงกันกับพื้นที่ใกล้เคียงที่อยู่ในบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบเดียวกัน เช่น ชาวอำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสทิงพระ อำเภอสิงหนคร อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา อำเภอปากพะยูน อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง อำเภอหัวไทร อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น โดยความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำนาของชาวอำเภอระโนด ยังคงมีการสืบทอดอย่างไม่ขาดสายมาจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าปัจจุบันความเชื่อและพิธีกรรมในการทำนาของชาวบ้านจะถูกอิทธิพลของวัฒนธรรมของชาวต่างชาติ เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีอิทธิพลมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังมีชาวบ้านโดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ยังคงมีความเชื่อและยึดถือปฏิบัติกันอย่างเหนียวแน่น จึงเป็นเหตุให้วัฒนธรรมความเชื่อและพิธีกรรมในการทำนายังคงธำรงอยู่ตราบทุกวันนี้ การทำขวัญข้าว ตามประวัติบอกเล่าสืบต่อกันมาแต่โบราณของชาวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เกิดขึ้นเนื่องจากเกิดมีปัญหาถามว่าระหว่างพระพุทธเจ้ากับแม่โพสพนั้นใครจะมีบุญคุณมากกว่ากัน ต่างก็มีการถกเถียงกันผลที่สุดมนุษย์ก็ให้แม่โพสพเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แม่โพสพทั้งเสียใจและน้อยใจเป็นอย่างมากพลางกล่าวว่า “ตั้งแต่งรักษามนุษย์มา มนุษย์ได้มีข้าวกิน ถึงแม้ว่าสิ่งอื่น ๆ จะมีพระคุณ แต่แม่โพสพก็ไม่ควรที่จะพ่ายแพ้แก่ใคร ๆ “ กล่าวจบ แม่โพสพก็หลีกหนีไปอาศัยอยู่ที่ภูเขาทบกัน ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านต่างก็พากันได้รับความเดือดร้อน ร้องห่มร้องไห้ เนื่องจากต้นข้าวเมล็ดลีบเสียหายหมด เกิดความอดอยากขาดแคลนอาหารไปทั่วทุกหนทุกแห่ง จนกระทั่งมีสัตว์ 2 ตัว คือปลาสลาดและนกคู้ลารับอาสาไปรับแม่โพสพที่ภูเขาทับกัน ปลาสลาดสมัยก่อนลำตัวจะกลม แต่พอเดินทางเข้าไปคาบเอาแม่โพสพซึ่งเป็นช่วงที่ภูเขากระทบกันพอดีและทับเอาลำตัวปลาสลาดจนตัวแบน จากนั้นปลาสลาดก็คาบเมล็ดข้าวหรือแม่โพสพออกมาพ้นจากภูเขาทบกันได้ นกคู้ลาจึงฉวยโอกาสแย่งคาบเมล็ดข้าวพาบินหนีมาจนมาถูกพายุใหญ่ก็ขอร้องให้ช่วย ปลาสลาดซึ่งว่ายน้ำตามมาทันพอดีขณะที่นกคู้ลาอ้าปากจะขอช่วยทำให้เมล็ดข้าวหล่นออกจากปากของนกคู้ลา ปลาสลาดก็รับไว้แล้วคาบมาจนกลับมาถึงที่เดิมนำมามอบให้พระพุทธเจ้าแจกจ่ายให้ประชาชนนำไปปลูกขยายพันธุ์ต่อไป ตั้งแต่น้ำมามีการทำขวัญข้าวเพื่อรำลึกถึงบุญคุณของแม่โพสพสืบมาจนกระทั่งปัจจุบัน และปลาสลาดก็มีลำตัวแบนมาจนถึงบัดนี้ จากการศึกษาไม่ปรากฏว่าแม่โพสพเป็นเทวดาหรือเทพธิดาในศาสนาพรหมณ์ฮินดูหรือศาสนาอื่นใด จึงน่าจะเป็นไปได้ว่าแม่โพสพน่าจะเป็นเทพธิดาประจำท้องถิ่นของไทยเอง และเป็นความเชื่อที่มีอยู่ทุกภาคของประเทศไทย ดังนั้นเพื่อเป็นการทำให้แม่โพสพพอใจและอยู่กับชาวนาต่อไป จึงได้มีการทำพิธีทำขวัญข้าว หรือ พิธีสมโภชแม่โพสพ เป็นพิธีบวงสรวงแม่โพสพ ผู้เป็นวิญญาณแห่งข้าว โดยเชื่อว่าถ้าข้าวมีขวัญสิงอยู่ประจำ ไม่หลีกลี้ไปไหน ต้นข้าวก็จะงอกงามสมบูรณ์ ให้ผลสูง ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน หรือเฉาตาย ส่วนที่เก็บเกี่ยวขึ้นสู่ยุ้งฉางแล้ว แม้จะจำหน่ายขายหรือกินก็สิ้นเปลืองไปน้อยที่สุด ในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการทำนาแบ่งได้ 3 ช่วง เวลาคือ - ความเชื่อและพิธีกรรมก่อนแรกไถ ความเชื่อที่ปรากฏอยู่เป็นความเชื่อเรื่องฤกษ์ดิถี ดูเวลาที่เหมาะสมในการทำนาตามแบบแผนโบราณ ความเชื่อเรื่องดิถีฤกษ์เป็นเรื่องของการกำหนดระยะเวลาของการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับดินฟ้าอากาศ ตามฤดูกาล และให้พร้อมเพรียงกันทั้งหมู่บ้านเนื่องจากใช้ตำราเดียวกันทำให้ทำนาพร้อมกัน ข้าวที่ได้ก็จะโตพร้อมกัน สุกพร้อมกัน ทำให้หนูและแมลงไม่รบกวน นอกจากนี้ยังแสดงถึงการรู้จักเตรียมตัวมนการทำนา การเตรียมความพร้อมก่อนหน้านาจะมาถึง เช่นดูเรื่องเครื่องไถ หว่าน ให้มีความคงทนถาวร โดยหลอกให้เกิดความกลัว เช่น เครื่องไถที่ชำรุดห้ามทำไปทำฟืน หรือไปไถนาจะทำให้แม่โพสพโกรธ ซึ่งความจริงแล้วคือหากนำไปใช้จะทำให้การทำงานล่าช้าและอาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ - ความเชื่อและพิธีกรรมในช่วงแรกไถถึงเก็บเกี่ยว แบ่งเป็นความเชื่อและพิธีกรรมในการแรกไถ แรกหว่าน แรกปักดำ การไหว้เจ้าที่นา การรวบขวัญข้าว โดยความเชื่อเรื่องแรกไถ แรกหว่าน และแรกดำนา เป็นเรื่องของการกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมในแต่ละขั้นตอนของการทำนา เช่น ช่วงเวลาดินชุ่มชื้นจะเหมาะแก่การไถ ช่วงเวลาที่ฝนตกลงมามากก็เหมาะที่จะปักดำ ซึ่งล้วนแล้วที่เกิดจากการสังเกตสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น ส่วนความเชื่อเรื่องพิธีกรรมการไหว้เจ้าที่นา เป็นการปลูกฝังให้รู้จักรู้คุณผู้มีพระคุณ ส่วนความเชื่อในเรื่องการรวบขวัญข้าว เป็นเรื่องของการปลูกฝังลักษณะนิสัยให้เป็นคนระมัดระวัง ละเอียดรอบคอบ ประหยัดมีความกตัญญู เป็นต้น - ความเชื่อและพิธีกรรมในช่วงหลังเก็บเกี่ยว แบ่งเป็นความเชื่อในการดับลอมข้าว ความเชื่อในการทำขวัญข้าว และความเชื่อเกี่ยวกับพระแม่โพสพ ซึ่งสิ่งที่สะท้องถึงภูมิปัญญาคือ เป็นกลวิธีที่ป้องกันไม่ให้ข้าวมีความเสียหาย ป้องกันเรื่องอุณหภูมิ เชื้อรา หนู่อและพิธีกรรมในการแรกไถ แรกหว่าน แรกปักดำ การไหว้เจ้าที่นา ซึ่งความจริงแล้วคือหากนำไปใช้จะทำให้การทำงานล่าช้ เกือบทุกขั้นตอนของการทำนา ชาวบ้านต้องรำลึกถึงแม่โพสพ เริ่มตั้งแต่การหว่านข้าวก็ต้องหาวันดี พันธุ์ข้าวต้องแบ่งส่วนจากข้าวขวัญอันเป็นขวัญแห่งแม่โพสพ ก่อนถอนต้นกล้าไปปักดำต้องขอขมา ตอนเริ่มปักดำต้องเชิญขวัญมาอยู่รากอยู่กอ ข้าวออกรวงอร่ามต้องรวบข้าว ผูกขวัญไว้ เก็บเกี่ยวแล้วต้องทำขวัญข้าวครั้งสำคัญ และเมื่อรื้อข้าวลงจากกองมานวดทุกครั้งก็ต้องขอขมาลาโทษ ในทุกขั้นตอนที่ว่านี้การทำขวัญเป็นการแสดงออกต่อแม่โพสพที่เป็นพิธีรีตรองมากที่สุด การประกอบพิธีสมโภชแม่โพสพ ของอำเภอระโนด 1. การเตรียมพิธี - การเลือกวันทำพิธี การสมโภชแม่โพสพของชาวอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา จะทำหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านเชื่อว่าการสมโภชแม่โพสพเป็นการประกอบพิธีสดุดีแม่โพสพ เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลและเพื่อแสดงความชื่นชมยินดีที่ได้ทำนาประสบผลสำเร็จ ส่วนใหญ่การทำขวัญข้าวมักจะทำในเดือน 6 ถ้าเป็นข้างขึ้นมักจะทำในวันคี่ เช่น 13 ค่ำ 15 ค่ำ ถ้าเป็นเป็นข้างแรมใช้วันคู่ เช่น 8 ค่ำ หรือ 14 ค่ำ แต่ส่วนมากในวันธรรมสวนะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันพระ แต่ก่อนนิยมทำในคืนวันเพ็ญ การทำขวัญข้าวจะต้องไม่เลือกเอาวันที่ถูกผีเสื้อข้าว คือ วันที่ตำราระบุว่า ถ้าหว่านปักดำหรือเก็บเกี่ยวในวันนั้นจะถูกผีเสื้อข้าวกินหมด การทำขวัญข้าวหรือสมโภชแม่โพสพแต่เดิมจะทำในช่วงพลบค่ำหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เวลานกชุมรัง ในวันอังคาร วันพฤหัสบดี และวันเสาร์ เว้นวันอาทิตย์ วันจันทร์ วันพุธ วันศุกร์ และวันทักทิน(ทับทิม) คือวันขึ้นหรือวันแรมที่เลขวันและเลขเดือนตรงกัน เช่น เดือน 9 ขึ้น 9 ค่ำ แต่ในปัจจุบันอำเภอระโนดได้จัดงานพิธีสมโภชแม่โพสพประจำปี โดยให้ประชาชนผู้สนใจจากหมู่บ้านและตำบลต่างๆ ร่วมพิธีด้วยจึงได้ปรับเปลี่ยนมาจัดในช่วงกลางวัน 2. ขั้นตอนการทำพิธี การทำพิธีสมโภชแม่โพสพของชาวอำเภอระโนดจะเป็นพิธีสงฆ์และพิธีหมอทำขวัญข้าวซึ่งเป็นคนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่ โดยมีขั้นตอนดังนี้ - เครื่องเซ่นสังเวยที่นำมาใช้ในการประกอบพิธี คือ หัวหมู จำนวน 1 หัว หรือมากกว่านั้น ปลามีหัวมีหาง 1 คู่ ไก่ต้มตัวผู้ 1 ตัว บายศรีปากชาม ในบายศรีปากชามจะมีขนมต่างๆ ได้แก่ ขนมพอง ขนมลา ขนมกง ถั่ว งา ข้าวตอก นอกจากนี้ยังมีไข่เสียบที่ยอดบายศรี อาจมีการนำเงินไปเสียบที่ยอดบายศรี และปักเทียนขาวจำนวน 1 เล่มลงไปในบายศรีด้วย การจัดบายศรีจะจัดเป็นคู่โดยมักจะใช้ตั้งแต่ 1-3 คู่ หรือจะจัดเป็นกี่คู่ก็แล้วแต่สามารถกระทำได้ทั้งสิ้นแล้วแต่ความสะดวกของหมอ ขนมต้มแดงขนมต้มขาว เป็นสิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้ในพิธี มะพร้าวอ่อน จำนวน 3 ลูก หรือมากน้อยกว่านั้น ผลไม้ต่างๆ ตามสมควร มักจะนิยมจัดวางให้เป็นเลขคี่ 3 5 7 หรือ 9 อย่าง ผลไม้ที่นิยมใช้ เช่น กล้วยน้ำว้า อ้อย ส้มเขียวหวาน ส้มโอ และขนุน เป็นต้น ข้าวตอก ถั่ว งา เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในพิธี ดอกไม้ 7 อย่าง ส่วนใหญ่จะใช้ดอกไม้ที่สามารถหาได้บริเวณบ้าน เช่น ดาวเรือง ดอกเข็ม บานไม่รู้โรย และบานชื่น เป็นต้น อาหารคาว 3 7 9 หรือ 12 อย่าง หมาก พลู บุหรี่ แสดงถึงการรับแขก และเป็นสิ่งที่คนโบราณนิยมรับประทาน อาหารหวาน เช่นเดียวกับอาหารคาว มักจะใช้ขนมที่มีชื่อมงคล เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน ขนมชั้น และขนมถ้วยฟู เป็นต้น ผ้าขาว ใช้ผ้าขาวขนาดสี่เหลี่ยมจัตุรัสสำหรับทำเพดานบนเพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตขณะที่อัญเชิญลงมาเข้าร่วมพิธี อุปกรณ์ที่ใช้ทำนา หรือซากสัตว์ เช่น เชือกวัวขาด เขาวัว คราด ไถ เป็นต้น การตั้งเครื่องบูชาอาจตั้งมากหรือน้อยกว่าที่กล่าวข้างต้นนี้ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสะดวกของหมอแต่ละท่าน ข้าวที่ผ่านการเก็บเกี่ยว (จะเป็นมัดหรือเลียงก็ได้) เป็นตัวแทนของข้าวทั้งหมด ใบไม้และผลไม้ ประจำท้องถิ่น เช่น ใบชุมเห็ด ใบชุมแสง ชุมโพ่ (ฝรั่ง) ไม้หว้า ไม้กำชำ กล้วยอ้อย ไม้พรหมคต ย่านนางโพพิศ ย่านลิเพา เป็นต้น การประกอบพิธีไหว้ครูหมอยาต้องถือศีล 5 เพื่อทำใจให้บริสุทธิ์ก่อน จากนั้นนุ่งห่มชุดขาว เมื่อเริ่มพิธี จุดธูปเทียนที่หน้าหิ้งบูชา กราบ 3 หน แล้วจึงกล่าวชุมนุมเทวดา ดังนี้ - ในการทำพิธีชาวบ้านจากหมู่บ้านต่างๆ ในอำเภอระโนด(เขตตำบลระโนดและตำบลใกล้เคียง)จะนำข้าวเลียงมาร่วมพิธีคนละ 5 - 10 ลียง หรือตามกำลังความสามารถ พร้อมด้วยดอกไม้ธูปเทียน จากนั้นเจ้าหน้าที่จะรวบรวมข้าวเลียงมาจัดไว้ที่เดียวกัน หมอทำขวัญข้าวจะนำอุปกรณ์ต่างๆมาวางบนโต๊ะพิธี เอาแหวนผูกด้ายมาวงล้อมรอบขวัญข้าว วางสายสิญจน์รอบเครื่องบายศรีและเครื่องบูชาในพิธี แล้วสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย พิธีสงฆ์ หมอทำขวัญกล่าวชุมนุมเทวดา ไหว้สัดดี ตั้งนะโม 3 จบ เปิดกรวยบายศรี จุดเทียนชัยและแหล่บททำขวัญข้าว จบพระสงฆ์สวดชยันโต จากนั้นหมอทำขวัญว่าคาถาปิดประตูหน้าต่างเพื่อให้แม่โพสพอยู่ประจำยุ้งข้าวเป็นอันเสร็จพิธี หลังจากนั้น ชาวบ้านก็จะนำข้าวที่ผ่านการทำพิธีเสร็จแล้วกลับไปบ้านเพื่อเก็บไว้เป็นสิริมงคลและเก็บไว้หว่านร่วมกับข้าวปลูกในครั้งต่อไปโดนเชื่อว่าจะทำให้ข้าวบริบูรณ์ได้ผลดี 3. บทสมโภชแม่โพสพ - บทแหล่ทำขวัญข้าว วันนี้วันดี เป็นศรีพระยาวัน แคล้วทรทึก ทักทินยมข้น ลูกจักทำขวัญ จัดสรรของดี กล้วยอ้อยแตงกวา ถั่วงามากมี ทุกสิ่งใส่ที่ ให้แม่ข้าเสวย อีกทั้งพันธุ์ไม้ ลูกแต่งเอาไว้ ให้แม่ชมเชย ชุมเห็ดชุมแสง ชุมโพ่แม่เอย พันธุ์ไม้ยังเหลย ไม้หว้ากำชำ กล้วยอ้อยพรหมคต ลูกจัดไว้หมด รับแม่ตาตำ ย่านนางโพพิศ ด้ายแดงขาวดำ ย่านลิเพาประจำ รัดพุ่มพฤกษา ไม้ถบเป็นหลัก ทำกรอมแล้วปัก รับพระมารดา ให้แม่ชมเชย พุ่มไม้พฤกษา ลูกน้อยคร่าวถ้า มารดาดำเหนิน เชิญมาเถิดนะแม่ขวัญเอย แม่นิลพูสี มาตุลีเทวา ทั้งแม่เหล็กกล้า แม่ไพศาลี ปลาหลาดนำหน้า เมื่อแม่เสด็จมา นางนกคู้ลา พาจากคีรี ข้าวเหนียวข้าวจ้าว สิ่งละเม็ดด้วยดี องค์พระมาตุลี นำแม่ข้ามา มาเอาขวัญข้าว ประสูติลูกเต้า เต็มทั้งไร่นา มนุษย์ทั้งหลาย ได้รอดชีวา คุณพระมารดา สืบก้าวโดยตรง วันนี้ลูกยา ข้าวสุกแล้วหนา มาเชิญโฉมยง ให้แม่พูงา จากปลาทองทรง ชักชวนญาติวงศ์ แห่ห้อมล้อมนา นางแก้วนางกอง ทองพูนหนุนห้อง พวงหวายลูกปลา นางขาวดำหอม ดอกยอมแมงดา ประทุมโสภา ยายออย่างดี ช่อปริงดอกพร้าว เชิญมาเถิดนะเจ้า แม่นิลพูสี หน่วยเขือนางกอง นางทองรวงรี จุกเทียนหอมดี ข้าวหยีรวงดำ นางหอมประจำ ข้าวกระแจหอมหวาน ข้าวช่อไม้ไผ่ ไข่มดลิ้นคลาน ดาวเรืองเล่าท่าน ยังข้าวนั้นเหลย นางหงสงรส รวงงามปรากฏ หน่วยแดงน่าเชย ชมข้าวย่านไทร รวงงามกุไหรเหลย เชิญมาแม่เอย ข้าวยอดพระนคร ชมข้าวย่านไทร รวงงามกุไหร รวงใหญ่บ่หย่อน ปากนกนี้แหละ เที่ยงแท้งามงอน รวงกองเป็นก้อน ข้าวเหลืองทองพูน ข้าวช่อไข่เป็ด กอรวงงามเสร็จ เต็มไม่รู้เหื้อง ข้าวโพดสาลี มีสีรุ่งเรือง ข้าวนางพูนเกิด เชิญแม่มาเถิด ข้าวทองสาลี ข้าวตีนนกทูง กอรวงงามดี เชิญมาทางนี้ ข้าวแมงดาลาย ข้าวทรายขาวเล่า เชิญมาเถิดเจ้า ทำขวัญให้สบาย ยังข้าวกำพรึก ลูกนึกไม่วาย เชิญมาเล่าไซร้ ดอกอ้อเพราะพรึง ยังข้าวไม่ตาก ศรีแม่งามหลาก รวงมากจริงๆ เชิญมาให้สิ้น นางหอมลูกปลา ข้าวเทพมหาชัย มาแล้วแม่อย่าไป เชิญมาแม่มา ช่อตอดอกประดู่ นางงามข้าวหนัก อนนักทั้งคู่ มะเลอซ่อนตัวผู้ ข้าวเยอะข้าวสาร มาชมให้สบาย หฤทัยชื่นบาน เชิญมาอย่านาน เลยท่านทั้งปวง โอ้แม่โพสพ ลูกเรียกมาจบ แต่ภูเขาหลวง เชิญมาอยู่แมล็ด เสด็จมาอยู่รวง รับเอาบวงสรวง ที่ลูกบูชา ขวัญอยู่ไร่นา ลูกเรียกมาไว้ อย่าแหนงเลยหนา อยู่ในไร่นา เชิญมาทุกตน มาสร้างกุศล ด้วยคนเถิดหนา โอ้แม่โพสพเจ้า อย่าละห้อยสร้อยเศร้า เชิญมาแม่มา รับเอาข้าวขวัญ สารพันนานา ที่ลูกบูชา นานาหลายพันธุ์ เงินทองแก้วแหวน ผูกมือถือแขน ข้างละคู่ทำขวัญ วัวดินแมงดา กุ้งปลาหลายพันธุ์ แต่งไว้ครบครัน ให้แม่ชมเชย เชยแล้วอย่าจาก บรรดามามาก รับเอาสังเหวย มาจับเทียนขวัญ เถิดนะขวัญแม่เอย แม่อย่าละเลย แม่อย่าไปไกล อีกข้าวเหนียวและข้าวเจ้า มากมายหนักหนา ข้าวศรีวงสา ยังข้าวหางม้า ย่านลิเพาเคราเครือ เชิญขวัญนางแอ ขวัญข้าวเจ้าแม่ แม่จะให้มาเอง ปูผ้ารองรับ สำหรับแต่งเพลง ข้าวยอดพวงหวาย ข้าวหนมนางแจ่ม ข้าวแย้มนางพราย ข้าวหนุนข้าวหนาย อีกทั้งนางป้อม รวงล้อมนานา ข้าวพวงระกา พุทราดำน้อย เชิญเถิดยอดสร้อย มาเอาเครื่องขยา บูชาสังเหวย เชิญขวัญแม่เอ้ย มาชมบายสี ไกวกวักขวัญแม่ ชวนชักกันมานี้ ข้าวนางคลี่ละออง สำลีบัวขาว ข้าวชะมดรวงยาว ข้าวละะมุดแดงขาว นางนาดกรายกร อันมือแม่อเนก ขวัญแม่เป็นเอก นาลึกนาดอน เอหะอะหัง ขวัญแม่เร่งมา มาชมขยา รสชากระยาหาร ฝูงคนตระการ ต่างๆนาๆ ปูผ้ารองรับ ขวัญแม่งามสรรพ เชิญมาแม่มา นางทองตาหนี นางศรีชฎา นางอุนนางเกิด เชิญแม่มาเถิด เร่งชวนกันมา นางละอองหงสา ทองเรืองงามดี อีกทั้งนางสนทรี มะลิซ้อนด้วยกัน ข้าขอเชิญขวัญ มาเร็วๆ พลันๆ เถิดนะขวัญแม่เอย ขวัญแม่อย่าแล่น ละเล่นไปไกล มารับเครื่องสังเหวย ให้สำราญใจ อันเชิญขวัญแม่ เร่งมาไวไว ม่อย่าตกใจ แก่หนูหมูกวาง แก่สัตว์ต่างๆ แรดช้างในไพร วัวควายใดใด ขวัญแม่อย่าหน่าย เชิญมาเถิดนะขวัญแม่เอย ขวัญแม่อย่าตกใจ แก่ฝูงมนุษย์ เรือนหักคลังทรุด ขวัญแม่อย่าหยุด อย่าตกเชิงกอน ขวัญแม่อย่าร้อนฤทัย ขวัญแม่อย่านอน ที่ห้วยเหวผาป่าไม้ ลูกน้อยร้องเชิญ ขอเชิญแม่มาอยู่ใจ เชิญขวัญนางไท เร่งมาไวไว ขวัญแม่อย่าตกใจ กระจอนหางดอก กระรอกหางยาง กระแตหางขาว คาบแม่ลูกไป มาแม่มาอยู่ แม่มาเร็วๆไวไว แม่อย่าตกใจ เชิญมาเถิดนะขวัญแม่เอย คำกาดเชิญขวัญแม่โพสพ ขวัญแม่ที่ตก ที่เที่ยวตกอยู่ที่นา อยู่ที่ชายหนอง อยู่ที่ชายคลอง อยู่ที่ชายท่า ขวัญแม่ ที่ตกแอบพุ่มไม้พฤกษา อยู่ที่ริมคงคา ชายทางเดิน ขอเชิญแม่เร่งดำเหนิน อย่าเหินเพลินด้วยฝูงคน ขวัญแม่นิรมลจงรีบมาหาบรรดาแม่ที่ตกหล่นอยู่พื้นปฐพี ตกหล่นอยู่พื้นธรณี อย่าเหินเพลินชมพฤกษีและฝูงสัตว์ที่ในไพร ขวัญแม่อย่าไปอยู่ในคงคา ชมกุ้งปลาฝูงมัจฉาตัวน้อยใหญ่ ถ้าแม้นฝูงมนุษย์ทำผิดสิ่งอันใด ขออภัยให้ลูกน้อยที่ร้องเชิญอยู่เสียงแจ้วๆ อันเชิญขวัญแม่ที่สถิตอยู่เขาหลวง ขวัญแม่อย่าหนักหน่วงขัดขืนคำลูกอ้อนวอน ภาพสะท้อนที่ปรากฏในประเพณีสมโภชแม่โพสพอำเภอระโนด “ความเชื่อกับสังคมมีความสัมพันธ์กันในลักษณะที่ความเชื่อเป็นตัวกำหนดพิธีการและการถือปฏิบัติต่าง ๆ ” สังคมและความเชื่อมีความสัมพันธ์กันอย่างยิ่ง เพราะความเชื่อของคนในสังคมจะเป็นตัวกำหนดพิธีกรรมและการถือปฏิบัติต่าง ๆ ของบุคคลในสังคมนั้น ๆ ความเชื่อจึงเปรียบเสมือนต้นกำเนิดแห่งพิธีกรรมและการถือปฏิบัติทั้งปวง พิธีกรรม หมายถึง “วิธีการชนิดหนึ่งที่จะนำไปสู่เป้าหมาย การที่เราจะได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการเราจำเป็นต้องมีการกระทำ และในแต่ละการกระทำก็ต้องมีวิธี” นั่นหมายถึงการกระทำที่มีแบบแผนมีขั้นตอน โดยมุ่งให้บรรลุจุดประสงค์ของผู้จัดพิธีกรรม ลักษณะการกระทำที่เป็นพิธีการย่อมจะสะท้อนแนวความคิดที่เกี่ยวข้องกับการกระทำ คือ ผู้ทำพิธี – ผู้เข้าร่วมพิธี หมอทำขวัญข้าวจะทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบพิธีและชาวบ้านในละแวกนั้นเป็นผู้เข้าร่วมพิธี ซึ่งในการประกอบพิธีหมอจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเพื่อเชื่อมระหว่างเทพเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับมนุษย์ โดยใช้การสวดบทชุมนุมเทวดา เพื่อเชิญเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ลงมาในพิธี แล้วจึงสวดพระคาถาต่างๆ ตลอดจนถึงคำอัญเชิญ โองการต่างๆ ซึ่งคาถาเหล่านี้มีทั้งที่เป็นภาษาบาลี และเป็นภาษาไทย ในการประกอบพิธีกรรมหมอจะแต่งกายอย่างประณีต คือ นุ่งขาวห่มขาว สวมชุด ปกติแต่ห่มเฉียงด้วยผ้าขาวหรือผ้าขาวม้า หรือไม่ห่มขาวเลยขึ้นอยู่กับการถือปฏิบัติของหมอแต่ละคน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นชุดที่มีสีอ่อนๆ หมอจะนั่งอย่างสำรวม เมื่อเตรียมเครื่องบูชาเรียบร้อยแล้วหมอจะสำรวจความเรียบร้อยของเครื่องบูชาอีกครั้ง เพื่อไม่ให้มีอะไรขาดตกบกพร่อง เมื่อสำรวจเรียบร้อยแล้วจึงเริ่มต้นทำพิธี ในการสวดมนต์หมอยาจะสวดเสียงดังกังวานและในส่วนของบทอัญเชิญที่เป็นภาษาไทย หมอทำขวัญข้าวจะอ่านโดยใช้ทำนองคล้ายทำนองเสนาะ มีการทอดเสียง เปล่งเสียง และเอื้อนซึ่งมีความไพเราะ และบางช่วงหมอจะสวดโดยไม่เปล่งเสียงออกมา เพียงแต่ทำปากขมุบขมิบเท่านั้น ซึ่งหมอทำขวัญข้าวจะกระทำพิธีต่างๆ อย่างสำรวมจนจบพิธี หมอทำขวัญข้าวโดยบทบาทแล้วส่วนใหญ่จะเป็นชายที่ย่างเข้าสู่วัยชรา เป็นคนที่อยู่ในศีลในธรรม ได้รับการยอมรับนับถือ และเป็นแบบอย่างที่ดีของชาวบ้าน อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญาณของหมู่บ้านก็ว่าได้ นอกจากจะเป็นผู้ทรงภูมิทางความเชื่อและพิธีกรรมแล้ว หมอทำขวัญข้าวยังทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้และพิธีกรรมแก่คนรุ่นหลัง เป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ความเชื่อและพิธีกรรมให้คงอยู่กับท้องถิ่นต่อไป จากการศึกษาพบว่านอกเป็นผู้ทำพิธีหรือหมอทำขวัญข้าวแล้ว ส่วนใหญ่หมอทำขวัญข้าวจะมีความรู้ด้านอื่นๆ อีกด้วย เช่น ทางยาแผนโบราณ โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ ไสยศาสตร์ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการประกอบพิธีกรรมอื่นนอกเหนือจากการทำขวัญข้าว เช่น การดูฤกษ์ยามในการขึ้นบ้านใหม่ การแต่งงาน ตั้งชื่อ ตรวจดูดวงชะตาราศี ตั้งศาลพระภูมิ เป็นต้น ซึ่งนับว่าหมอทำขวัญข้าวเป็นผู้ที่มีความรู้มากมาย เป็นที่ปรึกษาให้ชาวบ้านและคนในชุมชน จึงถือได้ว่าหมอทำขวัญข้าวเป็นปราชญ์ท้องถิ่น เป็นปูชนียบุคคลที่ควรยกย่องสรรเสริญ ในด้านของผู้เข้าร่วมพิธี ได้แก่ชาวบ้านในละแวกนั้น จะแต่งกายสวยงาม เรียบร้อย และสุภาพ ในพิธีการหมอเป็นผู้ทำพิธีเพียงคนเดียว ผู้เข้าร่วมพิธีเพียงแต่พนมมือด้วยความสำรวมเท่านั้น การได้จัดพิธีกรรมทำให้ผู้ร่วมพิธีมีขวัญและกำลังใจ มีสิ่งยึดเหนี่ยวใจในการทำงาน รู้สึกปลอดภัยคลายความกังวล เป็นต้น สัญลักษณ์ที่ปรากฏในพิธี ในพิธีกรรมใดๆ ก็ตามเมื่อมีการประกอบพิธี สิ่งสำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้ คือ เครื่องบูชาและเครื่องใช้ประกอบพิธีต่างๆ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่ประกอบอยู่ในพิธีกรรมเป็นสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ใช้แทนสิ่งต่างๆ เริ่มตั้งแต่ ผู้ประกอบพิธีซึ่งหมายถึงหมอทำขวัญ จะทำหน้าที่เป็นตัวแทน เครื่องบูชาเหล่านี้เป็นมีความหมาย แฝงอยู่ ซึ่งการศึกษาสัญลักษณ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีจะช่วยให้เข้าใจพิธีกรรมนั้นๆได้ดียิ่งขึ้นสัญลักษณ์ในพิธีสมโภชแม่โพสพ ได้แก่ หัวหมู เป็นการบูชาบรรพบุรุษ ไก่ต้ม (ใช้ไก้ตัวผู้) ใช้เซ่นสังเวยวิญญาณ ปลามีหัวมีหาง แทนความอุดมสมบูรณ์ การนุ่งห่มสีขาว แสดงถึงความบริสุทธิ์ เป็นสีของพราหมณ์ อาหารคาวหวาน เป็นเครื่องบูชา เพื่อถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดอกไม้ แสดงถึงความเคารพ เป็นเครื่องบูชาที่แสดงถึงความอ่อนน้อม อ่อนโยน ธูป 3 ดอก เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เทียน เป็น สัญลักษณ์ทางศาสนา แสงเทียนที่เป็นประกายแสดงถึงจิตอันสว่างไสว และสมาธิ ข้าวตอก แสดงถึงความงอกเงยของความรู้ ผ้าขาวใช้ทำฝ้าเพดานเปรียบเสมือนเครื่องกั้นระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ เป็นที่สถิตของเทวดาเมื่อกล่าวอัญเชิญลงมายังพิธี มะพร้าวอ่อน แสดงถึงความบริสุทธิ์ ขนมต้มแดงขนมต้มขาว เป็นเครื่องบูชาครู กล้วย อ้อย ขนุน เป็นสิ่งที่คนโบราณกินเพื่อดำรงชีพ หมาก พลู และบุหรี่ เป็นสิ่งที่คนโบราณนิยมกินและใช้รับแขก น้ำชา นมสด และน้ำผึ้ง เหล้า เป็นเครื่องบูชาพระฤๅษีต่างๆ ไข่เสียบยอด หมายถึงการให้กำเนิดชีวิต เงินติดเทียน เป็นเครื่องบูชา อุปกรณ์ทำนา แทนเครื่องประกอบอาชีพ เพื่อความเป็นสิริมงคล ทอง แทนสิ่งมีค่า ใบไม้และผลไม้ ประจำท้องถิ่น เช่น ใบชุมเห็ด ใบชุมแสง ชุมโพ่ (ฝรั่ง) ไม้หว้า ไม้กำชำ กล้วยอ้อย ไม้พรหมคต ย่านนางโพพิศ ย่านลิเพา เป็นต้น เป็นสัญลักษณ์แทนความอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น  

แสดงความคิดเห็น
10 ที่เที่ยวแนะนำอื่นๆ